ขยายตรวจโควิด+เก็บอัตลักษณ์ มติ ครม. ต่างด้าว 7 เม.ย 2564.

สรุปข่าว มติ ครม. ต่างด้าว วันที่ 7 เม.ย 2564 ขยายตรวจโควิด+เก็บอัตลักษณ์

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ

ขยายตรวจโควิด+การเก็บอัตลักษณ์

ขยายตรวจโควิด+เก็บอัตลักษณ์ มติ ครม. ต่างด้าว 7 เม.ย 2564.
ขยายตรวจโควิด+เก็บอัตลักษณ์ มติ ครม. ต่างด้าว 7 เม.ย 2564.
ขยายเวลาการตรวจโควิด-19 และการเก็บอัตลักษณ์ ถึง 16 มิ.ย. 64 (เดิม 16 เม.ย. 64)
และถ่ายบัตรประจำตัวคนต่างด้าว (บัตรชมพู) ถึง 31 มี.ค. 65 (เดิม 31 ธ.ค. 63)
ของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา
สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่จะให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 3 สัญชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ได้เข้ามาลงทะเบียนเพื่อมีสถานะเป็นแรงงานถูกกฎหมาย ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 64 จากนั้นจะจัดให้มีการตรวจสุขภาพ ตามด้วยการเก็บอัตลักษณ์ โดยกระบวนการทั้งหมดมีแรงงานต่างด้าวลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้นประมาณ 650,000 กว่าราย แต่ขั้นตอนต่าง ๆ ยังไม่เสร็จสิ้นเนื่องจากปัญหาด้านการจัดระเบียบคิวเพื่อตรวจสุขภาพ จากเดิมที่ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เม.ย. 2564 ให้ ขยายออกไปจนถึงวันที่ 16 มิ.ย. 64 รวมถึงได้ขยายระยะเวลาให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานไปจัดทะเบียนประวัติบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง (บัตรชมพู) จากเดิมต้องแล้วเสร็จวันที่ 31 ธ.ค. 63 ให้ ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 65

เรื่อง การขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลในคนต่างด้าว

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลในคนต่างด้าวที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564 เรื่อง ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการ ดังนี้
1.1 กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศปรับปรุงแก้ไข ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เพื่อให้คนต่างด้าวดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ได้ถึงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตรได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาต ให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 (ฉบับที่ ….)
1.2 ให้กรมการปกครองและกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ และออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังบัตร ให้แก่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าว ตามแนวทาง และระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนผัน ให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564 เรื่อง ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก

2. กระทรวงแรงงาน ดำเนินการ ดังนี้
2.1 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศปรับปรุงแก้ไข ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เพื่อให้คนต่างด้าวดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ได้ถึงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานไปจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตรได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 รวมถึงการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงาน ตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาต ให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ ..)
2.2 ให้กรมการจัดหางาน ดำเนินการพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าวตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนดโดยระยะเวลาให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564 เรื่อง ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก

3. กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการ
3.1 ให้สถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สถานพยาบาลที่กรมการแพทย์กำหนด สถานพยาบาลที่สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานครกำหนด และสถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในคนต่างด้าวที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564 เรื่อง ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564
3.2 ให้สถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สถานพยาบาลที่กรมการแพทย์กำหนด สถานพยาบาลที่สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานครกำหนด รับขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพแก่คนต่างด้าว ที่ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กับสถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว รวมถึงรับตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้าง ในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิส ในระยะที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564 เรื่อง ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก

4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการจัดเก็บ อัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ในคนต่างด้าวที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564 เรื่อง ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

5. หลังสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษแล้ว ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดี คนต่างด้าวเข้าเมือง ผิดกฎหมาย หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

สาระสำคัญ
กระทรวงแรงงานเสนอว่า
1. คนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564 เรื่อง ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก มีจำนวน 654,864 คน โดยคนต่างด้าวดังกล่าวต้องเข้ารับการตรวจหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และไปดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564 ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ณ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564 พบว่ามีคนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพแล้ว จำนวนประมาณ 170,000 คน และมีคนต่างด้าวที่ผ่านการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) แล้ว จำนวนประมาณ 422,000 คน ซึ่งหลังจากวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564 หากคนต่างด้าวยังไม่ได้เข้ารับการตรวจหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพ รวมถึงยังไม่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) การอนุญาตให้อยู่ ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและการอนุญาตให้ทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าวจะสิ้นสุดลง
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คนต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อการดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด รวมถึงนายจ้าง/สถานประกอบการ มีแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการได้ต่อไป ในขณะเดียวกันคนต่างด้าวดังกล่าวได้อยู่ในการกำกับของหน่วยงานภาครัฐอันจะทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึง การบริหารจัดการคนต่างด้าวที่ลักลอบอยู่ในราชอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ในมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ดังนี้

1. ขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) จากเดิมภายในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

2. ขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานไปจัดทำทะเบียนประวัติ คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตร จากเดิมกลุ่มคนต่างด้าวที่ลงทะเบียนมีนายจ้าง ภายในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 และกลุ่มคนต่างด้าวที่ลงทะเบียนไม่มีงานทำภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 พร้อมกันทั้งสองกลุ่ม

3. ขั้นตอนอื่นตามที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564 ให้ดำเนินการตามที่แนวทาง ที่กำหนดเดิม

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/40759

SHARE: