การสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบกับโครงการ plan internation fair fish thailand

การสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบกับโครงการ FAIR Fish

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ

“คนไทยบางคนอาจมองว่าคนไทยเหนือกว่าแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ลาว กัมพูชา เพียงเพราะประเทศไทยมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่สำหรับผม ทุกคนล้วนมีคุณค่าความเป็นคนเท่ากัน เราต้องให้เกียรติทุกคนเท่าเทียมกัน”
มุมมองจาก
คุณรัฐชัย เรืองผดุง
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ โกลเบิ้ล อีเว้นท์ (Global Events) จำกัดซึ่งได้เล่าให้เราฟังถึงเกร็ดน่าสนใจในการจัดหาแรงงานข้ามชาติให้กับนายจ้างในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และสิ่งที่ทางบริษัทได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ FAIR Fish ไปติดตามกันเลยครับ 😊

การสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบกับโครงการ FAIR Fish

🏢 บริษัท Global Events เป็นบริษัทนำเข้าแรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมการอบรมด้านการสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบกับโครงการ FAIR Fish รวมทั้งได้พัฒนานโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านการสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบตามหลักการสากล คุณรัฐชัยเล่าว่าบริษัท Global Events สนใจเข้าร่วมการอบรมเพราะบริษัทต้องการพัฒนาความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานและยังทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในบริษัทได้อีกด้วย
“แม้ว่าบริษัทได้ยึดถือคุณค่าความเป็นคนและการให้เกียรติทุกคนเท่าเทียมกันอยู่แล้ว การเข้าอบรมกับโครงการ FAIR Fishทำให้มุมมองของเรากว้างขึ้นและมุ่งเน้นความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น”

คุณรัฐชัย กล่าว

“ตัวอย่างเช่น คนอื่นอาจมองว่าประเด็นด้านเพศเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบ เพราะการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างมีศักดิ์ศรีและด้วยความเคารพ รวมถึงป้องกันไม่ให้แรงงานถูกคุกคาม เป็นหน้าที่ของผู้สรรหาแรงงานตามแนวทางปฏิบัติการเพื่อการจัดหาแรงงานอย่างเป็นธรรมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ”
คุณรัฐชัยเล่าว่าการป้องกันการคุกคาม และการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างการเดินทางของแรงงานนั้น เป็นหลักการหนึ่งของนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านการสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบที่ทางโครงการ FAIR Fish ได้ช่วยพัฒนาขึ้น
🚌 “ในการจัดรถให้แรงงานเดินทางมายังที่ทำงานในประเทศไทย เราควรจะต้องแยกที่นั่งระหว่างแรงงานผู้หญิงและผู้ชาย เพราะแรงงานอาจไม่สบายใจที่จะต้องนั่งใกล้ๆ กับผู้ชายหรือผู้หญิงแปลกหน้า” คุณรัฐชัย กล่าวถึงหนึ่งในแผนต่าง ๆ ที่ทางบริษัทจะปรับเปลี่ยน “สิ่งนี้จะช่วยป้องกันการถูกคุกคามและการละเมิด ดังนั้น ในอนาคต เมื่อมีการจัดรถสำหรับการนำเข้าแรงงานรอบใหม่ ทางบริษัทก็จะสอบถามความพึงพอใจของแรงงานหญิงว่าสะดวกใจหรือไม่ที่จะนั่งใกล้กับแรงงานชาย หากไม่สะดวกใจก็จะจัดที่นั่งให้ห่างกัน”
สำหรับสิ่งที่จะทำต่อไปหลังการเข้าร่วมอบรม คุณรัฐชัย กล่าวว่าทางบริษัทจะฝึกอบรมให้กับพนักงานทุกคนให้ทราบเกี่ยวกับนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านการสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบ นอกจากนี้ บริษัทจะส่งจรรยาบรรณคู่ค้า (Code of Conduct) ไปให้ทางบริษัทจัดหางานคู่ค้าในประเทศต้นทางเซ็นด้วย เพื่อให้คู่ค้าแสดงความยินยอมที่จะปฏิบัติตามนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานทั้ง 9 ด้านของบริษัท ได้แก่
1. นโยบายการสรรหาด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรม
2. นโยบายสภาพการทำงานที่มีคุณค่า
3. นโยบายไม่เลือกฏิบัติ
4. นโยบายไม่ใช้แรงงานเด็ก
5. นโยบายไม่ใช้แรงงานบังคับ
6. นโยบายเสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรอง
7. นโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์
8. นโยบายกลไกการร้องเรียน ร้องทุกข์และการแก้ไขเยียวยา
9. นโยบายจริยธรรมและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ บริษัทจะติดตามและประเมินบริษัทคู่ค้าในต้นทางด้วยว่ามีการปฏิบัติงานที่เป็นไปตามหลักการสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบหรือไม่
“ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากนักในแง่ของผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิบัติตามหลักการสรรหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบ ผมคิดเพียงแต่ว่าหากเราทำงานด้วยความจริงใจโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีและสิทธิของทุกคน ในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เราทำก็จะส่งผลดีต่อลูกค้า (นายจ้าง) และแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน” คุณรัฐชัย กล่าว
“ในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เราทำก็อาจส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัทในอนาคต ดังนั้น การยึดหลักสิทธิมนุษยชนจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสำคัญที่สุดในการทำงานของเรา”
อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "FF FAIR FISH"

SHARE: