ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว รอบล่าสุด มติ ครม. 28 กันยายน 2564

ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว รอบล่าสุด มติ ครม. 28 กันยายน 2564

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ

บริการ ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว รอบใหม่ มติ 28 กันยายน 2564
บริการ ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว รอบใหม่ มติ 28 กันยายน 2564

ครม. เห็นชอบการบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ขยายเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้อง อยู่ถึง ก.พ. 2566

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ว่า ครม.เห็นชอบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1)แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติผิดกฎหมาย ไม่ได้ขออนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย 2)แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ดำเนินการขออนุญาตทำงานตามมติ 29 ธ.ค.63 แต่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการตามแนวทางดังนี้

1. กลุ่มแรงงานผิดกฎหมายที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและให้ทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องดำเนินการดังนี้
(1) นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะสามารถทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2566

(2) ให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานแล้ว ต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือประกันสุขภาพ ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 หากไม่ดำเนินการดังกล่าว การอนุญาตทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลง

(3) เมื่อแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือประกันสุขภาพ ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้ว ให้ดำเนินการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 หากไม่ดำเนินการจะอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 1 สิงหาคม 2565

สรุป ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว รอบล่าสุด มติ ครม. 28 กันยายน 2564
สรุป ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว รอบล่าสุด มติ ครม. 28 กันยายน 2564

2. กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.63 แล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยรัฐขยายระยะเวลาการยื่นคำขออนุญาตทำงาน จากภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เป็นภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 เพื่อให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 หากแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวต้องการจะทำงานในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ต้องดำเนินการตรวจโรคต้องห้ามภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 และปรับปรุงทะเบียนประวัติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565

 

ที่มา https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/46312


มติ ครม. 28 กันยายน 2564

เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้
1. คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อนายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐาน หากเอกสารครบถ้วนนายทะเบียนจะพิจารณาอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าว จากนั้นต้องมีการประกันสุขภาพ ตรวจสุขภาพ และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 เพื่อไปดำเนินการขอรับการตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวภายในวันที่    1 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะได้รับรับการตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
ทั้งนี้ ในการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวดังกล่าว สามารถประกันสุขภาพได้กับโรงพยาบาลตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยในประเทศตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนด
โดยการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1.1 กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ดังนี้
1) อนุญาตให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เพื่อขอรับการตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
2) อนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ ให้คนต่างด้าวดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565
3) คนต่างด้าวสามารถทำงานได้ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของนายจ้าง โดยการเคลื่อนย้ายดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการควบคุมโรคซึ่งแต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานครกำหนด
4) มิให้นำมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวดังกล่าวถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 รวมถึงกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งทำงานในสถานประกอบการ โรงงาน หรืองานก่อสร้าง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ …………………………………………..
1.2 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดำเนินการ ดังนี้
1) การเข้าไปตรวจ สถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและคนต่างด้าว โดยมีระยะเวลาดำเนินการดังกล่าว 30 วัน ทั้งนี้ เริ่มดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
2) เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงานและสถานที่ทำงานดังกล่าว หากพบคนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ รวมทั้ง ชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน และเมื่อนายทะเบียนตรวจสอบคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานว่าถูกต้องและครบถ้วนให้นายทะเบียนออกใบขออนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด ทั้งนี้ คนต่างด้าวมีสิทธิทำงานกับนายจ้างได้ทุกประเภทงานที่มิได้มีประกาศห้ามคนต่างด้าวทำโดยให้นำประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 และประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง เงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกรและงานขายของหน้าร้านกับนายจ้าง ลงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม และสามารถทำงานได้ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของนายจ้าง โดยการเคลื่อนย้ายดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการควบคุมโรคซึ่งแต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานครกำหนด
3) มิให้นำมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้บังคับแก่นายจ้างและคนต่างด้าว ที่นายจ้างได้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งทำงานในสถานประกอบการโรงงาน หรืองานก่อสร้าง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ………………………………………
1.3 กระทรวงสาธารณสุข และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการตรวจโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2563 และขายประกันสุขภาพ ให้กับคนต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างในกิจการที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมและคนต่างด้าวที่อยู่ระหว่างการเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยให้ซื้อประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เว้นแต่คนต่างด้าวที่อยู่ระหว่างการเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งผ่านการตรวจโรคต้องห้ามฯ ที่ได้ซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย เป็นระยะเวลา 4 เดือนแล้ว โดยอัตราเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกันภัย
1.4 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการดังนี้
1) จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลต่างด้าว ที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายในวันที่                  31 มีนาคม 2565
2) ตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565
1.5 กรมการปกครอง และกรุงเทพมหานคร จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครองกำหนด
2. คนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
2.1 กระทรวงมหาดไทย ปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และที่เกี่ยวข้อง โดยอนุญาตให้คนต่างด้าวที่นายจ้างได้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (บต. 48) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานคนต่างด้าว ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 (ฉบับที่ ..)
2.2 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศปรับปรุงแก้ไข ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
1) กรมการจัดหางานพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าวที่นายจ้างได้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (บต. 48) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานคนต่างด้าว ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และในระหว่างที่ยังมิได้รับใบอนุญาตทำงานให้คนต่างด้าวใช้ใบเสร็จรับเงินและใบรับคำขอดังกล่าวเสมือนใบอนุญาตทำงาน เพื่อเป็นหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
2) ให้กรมการจัดหางานมีอำนาจกำหนดเวลาการดำเนินการแต่ละขั้นตอนได้ตามที่เห็นสมควรไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งกำหนดการดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะกรณี
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ ..)
3. หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดี คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

SHARE: